ภูมิปัญญาท้องถิ่น

และผลิตภัณฑ์ชุมชน

 

ด้านเกษตรกรรม “สมุนไพร ชาใบขลู่”

       “ใบขลู่ เป็นสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นของป่าชายเลนแห่งบ้านแหลมมะขาม เป็นพืชที่ชาวแหลมมะขามนิยมรับประทานเป็นอาหารคาว  และนำมาใช้เป็นยารักษาโรคตามตำรับยาโบราณที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากคำบอกเล่าของ นางสายพิณ บุญมี อายุ ๕๘ ปี ครูภูมิปัญญาด้านการทำขนมไทยบ้านแหลมมะขาม ได้กล่าวว่า “ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นบรรพบุรุษกินใบขลู่เป็นยา ทั้งรับประทานสด หรือนำมาต้มน้ำดื่ม รสชาติอร่อย ทั้งแบบต้มใบสด นำใบมาคั่ว ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงธาตุในร่างกาย  ชาวบ้านแหลมมะขาม ได้เห็นความสำคัญของใบขลู่ ซึ่งเป็นทรัพยากรป่าชายเลนของบ้านแหลมมะขาม รวมทั้งความรู้ด้านภูมิปัญญาสมุนไพรไทยที่มีมาแต่โบราณ จึงมีแนวคิดในการทำ “ชาขลู่หอม@บ้านแหลมมะขาม”  โดยชาวบ้านแหลมมะขาม ได้ทำการค้นกรรมวิธีโบราณที่มีวิธีการคั่วมือแบบโบราณ ทำให้ได้ชาใบขลู่ที่มีรสชาติกลมกล่อม  มีกลิ่นหอมเวลาดื่ม อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยา

       นางวรรณา แสงสี เป็นชาวบ้านแหลมมะขาม มีแนวคิดอยากสืบทอดภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน  ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  จึงถ่ายทอดความรู้เป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ความรู้เรื่องการทำชาใบขลู่ให้แก่โรงเรียนในหมู่บ้าน และเป็นวิทยากรนำเสนอการทำชาใบขลู่ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมด้วย

  

  


ด้านหัตถกรรม “งานจักสาน”

       เรื่องเล่าในอดีตหมู่บ้านหัวหิน หมู่ที่ 4 คุณยายเจื้อน  ติวสันต์  (ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2540 อายุได้ 94 ปี) ภูมิปัญญาประจำหมู่บ้าน มีฝีมือในเรื่องจักสานเครื่องใช้ไม่ไผ่ทุกชนิด  และประดิษฐ์อาหารหวานยอดฝีมือ นำเอาเถาบอระเพ็ดที่มีรสขมมาแช่อิ่มจนหวาน รับประทานแล้วไม่รู้ว่าอะไร  ฝากฝีมือจากมือกะมีด สานไม้ไผ่เป็นแผงประกอบเป็นหีบศพของตนเอง  อันเป็นมรดกที่มีคุณค่ายิ่งมอบไว้กับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแหลมมะขาม  ยังมีเคล็ดวิชาย้อมตอกโดยใช้เปลือกมะหาดต้มเคี่ยวพออุ่นเอาออกแช่ไว้ 1 คืน แล้วเอาขึ้นนำไปฝังเลนชายค่าน้ำเค็ม 2 คืน สีจะทนแมลงไม่มารบกวน  คุณยายเจื้อน จัดทำด้วยความคิดของตนเอง ลงมือตัด ผ่า จักและสานสำเร็จเพื่อให้ใช้ประกอบเป็นโลงศพของท่าน อันเป็นการแสดงออกถึงภูมิปัญญาในเรื่องของการจักสานเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่  ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามาก  และเป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านมานมนาน  “ไผ่” อาจจะไม่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปแล้ว แต่ปัจจุบันมีผู้สืบทอดนับวันจะลดลงไป

       “ป้ายุบล”  นางยุบล อุณศิริ อายุ 60 ปี ยึดอาชีพเย็บหมวกใบจาก หมวกใบจากหรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “เหละ” เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาวบ้านแหลมมะขาม ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด หมวกใบจากเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบสานต่อกันมากว่าร้อยปีนิยมทำกันตามชนบทแทบทุกหมู่บ้านในจังหวัดตราด  มุ่งหมายเดิมของการทำหมวกใบจาก คือ ทำไว้ใช้เพื่อกันแดด กันฝน โดยเฉพาะชาวสวนและชาวนาในหมู่บ้านแหลมมะขาม ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถทำงอบเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ เล่าว่าพ่อแม่หารายได้ให้ตัวเองโดยเย็บงอบ หรือเหละขาย  ชุมชนมีวัตถุดิบไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย  ปัจจุบันให้ความรู้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานจะได้ทำเป็นอาชีพเสริมให้ครอบครัวตนเองได้   ในการทำงอบใบจากที่บ้านแหลมมะขามมีอยู่ 5 ทรง คือ ทรงสมเด็จ ทรงกระโหลก ทรงกระทะ กระดองเต่า และทรงหัวแหลม นอกจากนี้ในบ้านแหลมมะขาม  ยังมีภูมิปัญญาการสานผลิตภัณฑ์จากคลุ้มสำหรับเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายตามความต้องการ


ด้านหัตถกรรม “จักรสานคลุ้ม”

       “ลุงจิต” นายจิต  นานิคบุตร ปัจจุบันอายุ 65 ปี ลุงจิตเห็นความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากต้นคลุ้มและคล้า  คลุ้มและคล้า  เป็นพืชชนิดหนึ่งชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่แฉะใกล้แหล่งน้ำ สมัยก่อนมักนำมาใช้จักสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เสื่อ กระบุง กระด้ง หรือทำเชือกมัดสิ่งของในชีวิตประจำวัน มัดขนมต้ม ห่อขนม เป็นต้น โดยการนำพืชคลุ้มและคล้ามาปลูกไว้ในชุมชนใกล้ๆ บ้านของตนเอง เพื่อสะดวกต่อการนำมาใช้ในวิถีชีวิต เช่น มัดสิ่งของ มัดขนมต้ม หรือห่อขนม มีคุณสมบัติเหนียว ทนทาน และปลอดภัยจากสารเคมี สามารถย่อยสลายง่ายได้ตามธรรมชาติ  คนในชุมชนมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูโดยการนำต้นคลุ้มและคล้าไปปลูกไว้ตามบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อสะดวกต่อการนำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน และบริเวณแหล่งน้ำที่ใช้ทำสวนผลไม้ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่อง การเก็บกักน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ชาวชองใช้ทำการเกษตรในชุมชน และเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชคลุ้มในรูปแบบเครื่องจักสานจากภูมิปัญญาของชาวแหลมมะขามให้คงอยู่ ปัจจุบันลุงจิตคิดค้นนำคลุ้มมาสานเป็นวัสดุอุปกรณ์ในการใช้งานหลารูปแบบ  เช่น พัด ที่ใส่กระบอกน้ำ จานรองแก้ว จานใส่ขนม  พวงกุญแจ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่สนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดรายได้แก่คนในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

  


ด้านการแพทย์ไทย “นวดแผนโบราณ บีบคลายเส้น”

       ตาเสริญ “นายเสริญ เดชพงษ์” หมอบีบ คลายเส้น ปัจจุบันอายุ 78 ปี เป็นคนบ้านแหลมมะขาม ได้เรียนรู้การจับเส้นมาจากลุงพวน หมอบีบคลายเส้น ตาเสริญได้เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อายุ 13 ปี จนมีความชำนาญ คนที่เป็นอัมพฤกษ์ปากบิดเบี้ยวได้รับการบีบจับเส้นกับตาเสริญเพียง 14 วัน จนหายเป็นปกติ จึงทำให้เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดตราด ออกบีบนวดคลายเส้นตามพื้นที่ต่างๆ ทางโรงพยาบาลตราดเชิญร่วมประชุมอบรมให้ความรู้ บางคนเรียกอาจารย์จนได้รับเป็นปราชญ์ หมอบีบคลายเส้น


ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  “ศูนย์เรียนรู้บ้านเรือ หมู่ 6”

       “ศูนย์เรียนรู้บ้านเรือ หมู่ 6”  ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านกลาง ตำบลแหลมงอบ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วไป เป็นศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา มีโดยอาจารย์สมโภชน์ วาสุกรี  เป็นเจ้าของซึ่งอาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า เดิมทีจะปลูกบ้านไว้พักผ่อนส่วนตัว โดยนำเรือเก่ามาวางไว้กลางที่ดินแล้วสร้างบ้านไว้บนเรือ  มีคนผู้คนผ่านไปผ่านมาก็แวะมาดู ถ่ายภาพลงโซเชียล จึงเกิดความคิดสร้างเป็นโฮมสเตย์ ประกอบกับพื้นที่บริเวณดังกล่าวติดหาดทรายดำ  ป่าชายเลน  มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น  จึงได้สร้างกิจกรรมที่หลากหลายให้เกิดขึ้นที่บ้านเรือ โดยนำความคิดตามศาสตร์พระราชา ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 นำสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งปัจจุบันได้มีกลุ่มนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาเข้ามาศึกษาหาความรู้  เป็นแหล่งเรียนรู้ และรูปแบบการเล่าเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาจารย์สมโภชน์ฯ

  

  


ด้านศิลปกรรม “ บ้านหุ่นไม้กระดาน ”

       บ้านหุ่นไม้    ของคุณปู่สงการณ์  ไรนุชพงศ์   เป็นงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาที่ยากจะสรรหาคำกล่าวชม ต่อความคิดที่แหลมคม ของการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็น “คน” ผ่านแผ่นไม้ ที่เป็นมากกว่าสิ่งประดิษฐ์เพราะนั่นคือ “จิตวิญญาณ” และ “ชีวิต” ของผู้สร้างสรรค์ด้วยเจตนารมณ์ “งานของผมไม่มีราคา แต่มีคุณค่า เกินประมาณการ” เพียงเพราะต้องการให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เครื่องมือช่างโบราณที่ในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย ปู่สงกรานต์จึงเปลี่ยนเครื่องมือช่างไม้โบราณ ให้กลายเป็น “สื่อ” เพื่อสอนลูกหลานให้รู้จักวิธีใช้ โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหุ่นไม้ในอากัปกิริยาต่างๆ ของนายช่างใหญ่ ภรรยานายช่างใหญ่ และนายช่างรอง เป็นต้น    นอกจากนี้แล้วปู่สงการณ์  ยังได้เพิ่มความมีชีวิตชีวาของหุ่นไม้โดยการจัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้สมฐานะของนายช่าง และภรรยาตลอดจนกิจกรรมยามว่างของเหล่าบรรดานายช่างและภรรยา เช่น การเล่นหมากรุก เป็นต้น

 

  


ด้านศิลปกรรม “ภาพจิตรกรรมในอุโบสถวัดแหลมมะขาม  ภายในอุโบสถวัดแหลมมะขาม

       จากการบอกเล่าต่อๆกันมาของคนในหมู่บ้านทราบว่า หมู่บ้านแหลมมะขามเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ ก่อตั้งมายาวนานกว่า 100 ปี ลักษณะพื้นที่เป็นแหลมยื่นไปในทะเล โดยมีเรื่องเล่าว่า มีเทพองค์หนึ่งมาสิงสถิตอยู่ที่ต้นมะขามใหญ่ ที่มีอายุกว่า 100 ปี เป็นที่เคารพกราบไหว้และเป็นที่รู้จักในนาม “เจ้าพ่อต้นมะขามโพรง” จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านแหลมมะขาม”

       เมื่อแรกก่อตั้งนั้นบ้านแหลมมะขาม หมู่ 3 และหมู่ 4 เป็นหมู่บ้านเดียวกัน แต่ต่อมาทางราชการได้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน เป็น บ้านแหลมมะขามหมู่ 3 และบ้านหัวหิน หมู่ 4 ในอดีตชาวบ้านแหลมมะขามประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำประมง ต่อมามีนายทุนมาซื้อนาข้าวเพื่อทำนากุ้ง ทำให้ชาวบ้านแหลมมะขามเลิกอาชีพทำนา ปัจจุบันชาวบ้านสวนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน ปัจจุบันบ้านแหลมมะขามมีนายสุเทพ  บุญเพียร เป็นผู้ใหญ่บ้าน

       ภาพจิตรกรรมในอุโบสถวัดแหลมมะขาม  ภายในอุโบสถวัดแหลมมะขามมีภาพจิตกรรมที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับบ้านแหลมมะขาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยเสด็จมาสนทนาธรรมกับเจ้าอาวาสวัดแหลมมะขามในสมัยนั้น โดยเป็นภาพจิตรกรรมที่มีความงดงาม แฝงแง่คิด และกุศโลบาย สำหรับผู้ที่ได้เข้าไปเยี่ยมชม

  

  


ด้านภาษาและวรรณกรรม  “สืบสานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น”

     ศูนย์การเรียนรู้ ร.๕ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่รวบรวมภาพทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ ๕ ไว้อย่างมากมายกว่า 200 ภาพ ศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นด้วยคาดหวังว่า “บ้านจะมีความหมายมากกว่าการทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัย” นั่นคือ ความคิดที่เฉียบคมและลุ่มลึกของ อาจารย์สมโภชน์  วาสุกรี ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนแหลมงอบฯ ที่ใช้ “บ้าน” เป็น “ศูนย์เรียนรู้” ภายในบ้านเต็มไปด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือ พระนามที่ชาวตราดเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จพ่อ พระพุทธเจ้าหลวง” แต่ละภาพบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติไทยในรัชการของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี โดยศูนย์เรียนรู้ รัชกาลที่ ๕ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2553 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสวรรคตของพระองค์ท่าน  ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ซึ่งไม่มีเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด หากมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมท่านจะได้พบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดผ่านลายมือเขียนของอาจารย์สมโภชน์  และรูปแบบการเล่าเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน ซึ่งท่านจะประทับใจมิรู้ลืม

  


หนังสือ ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลแหลมงอบ

คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ pdf

(ภาพตัวอย่าง)